สัญลักษณ์ประจำชาติ

ธงชาติภูฏาน

ธงชาติภูฏานแบ่งครึ่งเป็นสองส่วนตามแนวทแยงมุม ครึ่งบนเป็นสีเหลืองและครึ่งล่างเป็นสีส้ม และมีมังกรสีขาวบริสุทธิ์พาดผ่านคั่นกลางในท่าหันศีรษะขึ้นข้างบน สีเหลืองบนผืนธงหมายถึงทางโลกและพระราชอำนาจแห่งพระมหากษัตริย์ สีส้มสื่อถึงความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตัวมังกร หมายถึง ประเทศภูฏาน หรือ ดรุกยุล (Drukyul) ที่แปลว่าดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า และยังหมายถึงความบริสุทธิ์ อัญมณีในกรงเล็บของมังกรหมายถึงความผาสุกและเป็นปึกแผ่นมั่นคงของประเทศภูฏาน ท่าทีของมังกรกำลังคำราม สื่อถึงความน่าเกรงขามของเหล่าเทพที่คอยปกป้องภูฏาน

ตราแผ่นดินภูฏาน

ตราแผ่นดินภูฏาน เป็นรูปวงกลม มีวัชระสองอันไขว้กันอยู่ตรงกลาง มีฐานรูปดอกบัวรองรับ สองข้างขนาบด้วยมังกรสองตัว โดยมีดวงแก้วแห่งความสมปรารถนาอยู่บนสุด และในวงกลมยังมีดวงแก้วอีกสี่ดวงตรงจุดที่วัชระทั้งสองไขว้กันอยู่ แสดงถึงความสมดุลระหว่างศาสนจักรและอาณาจักรในภูฏานโดยมีพุทธศาสนาสายวัชรยานค้ำจุนด้านจิตวิญญาณอยู่ ดอกบัวหมายถึงความบริสุทธิ์ ดวงแก้วหมายถึงพระราชอำนาจอันเปี่ยมล้นของพระมหากษัตริย์ ส่วนมังกรนั้นหมายถึง ประเทศดรุกยุล (Drukyul) ดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า ซึ่งเป็นชื่อของประเทศภูฏานนั่นเอง

เพลงชาติ

เพลงชาติแห่งราชอาณาจักรภูฏานมีชื่อว่า “ดรุก เซนเดน” (Druk Tsendhen) แต่งขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2496 และใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2509

ชุดประจำชาติของชาวภูฏาน

ลามะ ซับดรุง งาวัง นัมเกล (Zhabdrung Ngawang Namgyal Rama) ได้นำชุดโก (Gho) และชุดกีร่า (Kira) จากธิเบตมาเผยแพร่ในภูฏานราวศตวรรษที่ 17 สตรีชาวภูฏานนิยมแต่งกายด้วยผ้าสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ยาวลงมาจนถึงข้อเท้าเรียกว่า คีร่า พาดเฉียงบ่าแล้วกลัดด้วยเข็มกลัดที่เรียกว่า Komas ที่เอวคาดทับด้วยเข็มขัดผ้าทอมือ เรียกว่าคีร่า (Kyera) ใต้ผ้าคิระสตรีชาวภูฏานจะสวมเสื้อแขนยาวที่เรียกว่า วอนจู (Wonju) ไว้ด้านใน ก่อนสวมทับด้วยเสื้อเทอโก (Toego) ไว้ที่ชั้นนอกสุด

ผู้ชายจะสวมเสื้อโกที่เหมือนกระโปรงยาว คลุมเข่า ที่เอวคาดด้วยเข็มขัดผ้าทอมือคีร่า ด้านบนพับเป็นช่องสำหรับทำเป็นกระเป๋าใส่ของ สวมถุงเท้ายาวและรองเท้าเป็นอันสมบูรณ์

ชาวภูฏานทุกคนจำเป็นต้องสวมชุดกีร่าและโกในที่ทำงานและเมื่อไปติดต่อหน่วยงานราชการต่างๆ สำหรับงานพิธีที่เป็นทางการ ผู้ชายจะสวมผ้าพาดไหล่ที่เรียกว่า แกบเน (Kabney) ส่วนของผู้หญิงเรียกว่า ราชู (Rachu) เข้าคู่กับชุด โดยสีของผ้าแกบเนจะแสดงถึงยศถาบรรดาศักดิ์ของผู้สวมใส่ด้วย

กีฬาประจำชาติของชาวภูฏาน

คันศรและลูกธนูมีความสำคัญในตำนานต่างๆ ของภูฏาน ภูฏานได้ประกาศให้กีฬายิงธนูเป็นกีฬาประจำชาติอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นปีที่ภูฏานได้เข้าร่วมองค์การสหประชาชาติ ชาวภูฏานจะเล่นกีฬาชนิดนี้ทั้งเพื่อการแข่งขันและเพื่อการสันทนาการ รวมถึงเพื่อเฉลิมฉลองพิธีกรรมทางศาสนาและเทศกาลท้องถิ่น เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ธนูสมัยใหม่ที่เรียกว่า ธนูทดกำลัง (Compound bow) เข้ามาแทนที่ธนูไม้ไผ่ แต่ก็ยังมีคนนิยมเล่นธนูแบบดั้งเดิมอยู่

สนามกีฬาแห่งชาติของภูฏาน

สนามกีฬาชางลิมิทัง สเตเดียม (Changlimithang Stadium) ตั้งอยู่ในเมืองทิมพูเป็นสนามกีฬาประจำชาติของภูฏาน นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่สำหรับจัดงานสำคัญระดับประเทศ การแข่งขันฟุตบอลและกีฬายิงธนู สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2517 ก่อนบูรณะตกแต่งใหม่เมื่อ พ.ศ. 2550 สนามแห่งนี้สามารถจุผู้ชมได้ 25,000 คน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภูฏาน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภูฏาน ตั้งอยู่ภายในบริเวณป้อมปราการตาซอง (Ta-dzong) ในเมืองพาโร ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2511 เป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงศิลปวัตถุของภูฏานกว่า 3,000 ชิ้น ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความเก่าแก่กว่า 1,500 ปี

อาหารประจำชาติของภูฏาน

เอมา ดัทชิ (Ema Datshi) เป็นอาหารประจำชาติของภูฏานที่ประกอบด้วยพริกผัดชีส พริกที่ใช้มีทั้งพริกแห้งสีแดงและพริกสดสีเขียว เป็นอาหารที่ปรุงได้ง่ายและรวดเร็ว