ประวัติเทศกาลเซชู
เทศกาลเซชู เป็นเทศกาลสำคัญในวัฒนธรรมภูฏาน สามารถดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและชาวภูฏานให้มารวมตัวกันในเทศกาลนี้อย่างคับคั่ง แต่ยังมีหลายคนยังไม่ทราบที่มาที่ไปและความหมายที่แท้จริงของเทศกาลนี้ เราจึงขอนำเสนอประวัติคร่าวๆ ของเทศกาลเซชูให้ท่านที่สนใจได้ทราบถึงต้นกำเนิด
ย้อนไปเมื่อช่วงศตวรรษที่ 8 และศตวรรษที่ 9 ท่านคุรุปัทมะสัมภวะ พระภิกษุองค์สำคัญจากสำนักญิงมาปะ (Nyingmapa) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 สำนักพระพุทธศาสนาสายทิเบตที่เก่าแก่ที่สุด ได้จาริกมายังทิเบตและภูฏาน ในสมัยนั้น ดินแดนแถบนี้ยังนับถือลัทธิบอนและบูชาภูตผีวิญญาณ ท่านจึงเปลี่ยนความเชื่อเหล่านี้ด้วยการใช้ธรรมะ การสวดมนต์ การทำพิธีกรรม และการร่ายรำเพื่อเป็นการสยบภูตผีวิญญาณเหล่านั้น
การที่ท่านเดินทางมายังภูฏานเพราะต้องการช่วยกษัตริย์สินธุที่กำลังจะสิ้นพระชนม์ ท่านได้ร่ายรำกลางหุบเขาบุมทังซึ่งทำให้พระพลานามัยของกษัตริย์กลับมาดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจ กษัตริย์สินธุได้ตอบแทนท่านคุรุปัทมะสัมภวะด้วยการช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาในภูฏาน ด้วยเหตุนี้ ท่านคุรุปัทมะสัมภวะจึงได้จัดงานเทศกาลเซชูขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองบุมทังอันเป็นที่ซึ่งภาคสำแดงทั้งแปดของกูรู รินโปเช (คุรุปัทมสัมภวะในภาคสำแดงเป็นมนุษย์) ได้ปรากฏขึ้นผ่านทางท่าร่ายรำทั้งแปดท่า ท่าร่ายรำเหล่านี้ เรียกว่า “Chams” เป็นการบอกเล่าถึงความรุ่งโรจน์ของพระพุทธศาสนาและคิดค้นขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดหลักธรรมคำสอนทางศาสนาให้ผู้คนได้รับรู้ บางท่าร่ายรำท่านกูรู รินโปเชก็เป็นผู้คิดค้นเอง รวมถึงท่านเปมะ ลิงปะ ท่านซับดรุงและพระสำคัญองค์อื่นๆ
ในช่วงระบำหน้ากาก จะมีการสวดอ้อนวอนเพื่อขอให้ทวยเทพตามหลักความเชื่อตันตระทรงใช้พลังสะกดวิญญาณร้ายเอาไว้เพื่อเป็นการขจัดปัดเป่าเคราะห์โศกและอำนวยอวยพรให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข เชื่อกันว่าการร่ายรำนั้นมีขึ้นเพื่อสะกดวิญญาณและปีศาจร้ายที่คอยขัดขวางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
เทศกาลทิมพู ดรุบเชน และเซชู (Thimphu Drubchen & Tshechu)
Lhamoi Drubchen เป็นพิธีกรรมประจำปีที่จัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนกันยายนเพื่อบูชาเทพผู้ปกป้องคุ้มครอง Pelden Lhamo (มหากาลี) เป็นเวลา 11 วัน Pelden Lhamo มีความหมายว่า เทพีแห่งความรุ่งโรจน์ เป็นธรรมบาลหญิงเพียงองค์เดียวที่ปรากฏในความเชื่อของพุทธศาสนาสายทิเบตทั้ง 4 สำนัก และยังเป็นหนึ่งในสามเทพผู้ปกป้องคุ้มครองที่ชาวภูฏานเคารพนับถือ
เทศกาลทิมพู เซชู เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2213 ส่วนเทศกาล ดรุบเชน น่าจะเริ่มขึ้นในราว พ.ศ. 2248 ถึง 2252 โดยคินก้า เกลต์เชน ซึ่งก็คือ จัมเปล ดอร์จี ลูกชายของท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล กลับมาเกิดชาติแรก ตามตำนานเล่าว่า เทพธรรมบาล Pelden Lhamo ได้ปรากฏกายขึ้นเบื้องหน้าขณะที่เขากำลังทำสมาธิและร่ายรำ ต่อมาคินก้า เกลต์เชนได้นำท่าร่ายรำเหล่านั้นมาใช้จนเป็นจุดเริ่มต้นของเทศกาล ดรุบเชน
พาโรเซชู (Paro Tshechu)
พาโรเซชู เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภูฏาน มีการคลี่ผ้าทังก้าหรือทงเดลผืนใหญ่ที่สุดในโลก และยังมีการแสดงระบำหน้ากากเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของท่านกูรู รินโปเช พระสงฆ์องค์สำคัญในพระพุทธศาสนาสายทิเบต ชาวภูฏานในท้องถิ่นต่างพร้อมใจกันเข้าร่วมในงานเทศกาลที่มีสีสันนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล
กิจกรรมจัดขึ้นภายในพาโร รินปุง ซอง (Paro Rinpung Dzong) เริ่มจากพระแสดงการร่ายรำ Shingje Yab Yum ซึ่งเป็นระบำเพื่อบูชาเทพแห่งความตาย (Shingje) และชายาของพระองค์ ตามด้วยระบำ Durdag เพื่อคารวะเทพผู้ปกปักลานเผาศพ ต่อด้วยระบำ Shanag หรือ Black hats ที่ผู้แสดงจะสวมหมวกสีดำไว้และการแสดงระบำกลองจากหมู่บ้าน Drametse (Drametse Ngacham)
พูนาคาดรุบเชนและพูนาคาเซชู (Punakha Drubchen & Tshechu)
ท่านซับดรุงได้จัดพิธีพูนาคา ดรุบเชน ขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะของภูฏานเหนือทิเบต ในเทศกาลนี้ ผู้แสดงจะแต่งองค์ทรงเครื่องในชุดทหารโบราณหรือ Pazap ถืออาวุธและแสดงฉากการต่อสู้ย้อนไปในอดีตอันไกลโพ้น เมื่อกองทัพข้าศึกแตกพ่าย บุรุษจากหมู่บ้านทั้งแปดแห่งของเมืองทิมพูและหุบเขาพูนาคาก็เดินหน้าขับไล่กองทัพทิเบตออกไปจากภูฏาน สำหรับเทศกาลพูนาคา เซชูนั้น เป็นเทศกาลที่พระสังฆราชองค์ที่ 70 ของภูฏานท่าน Trulku Jigme Choedra ได้ริเริ่มจัดขึ้น
ไฮไลต์ของเทศกาลนี้อยู่ที่การคลี่ผ้าทงเดล ขนาดกว้าง 83 ฟุต ยาว 93 ฟุตซึ่งได้จากการนำผืนผ้าไหมยาวรวมกันกว่า 6,000 เมตรมาเย็บต่อกัน ใช้ช่างฝีมือทั้งสิ้น 51 คนเพื่อทำงานชิ้นนี้เป็นเวลาถึงสองปี ครึ่งบนของผืนผ้าอันศักดิ์สิทธิ์วาดเป็นภาพจำแลงของท่านซับดรุงทั้ง 11 ร่าง ส่วนด้านล่างนั้นวาดเป็นภาพผู้นำทางจิตวิญญาณของภูฏานรวมถึงพระสังฆราช (Je Khenpo) องค์ปัจจุบันด้วย
ทราชิกัง เซชู (Trashigang Tshechu)
เทศกาล ทราชิกัง เซชู จัดขึ้นในช่วงฤดูหนาว ไฮไลต์สำคัญของเทศกาลนี้ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากอยู่ที่เครื่องแต่งกายของชนเผ่าเร่ร่อนในหมู่บ้าน Merak และ Sakten และยังมี โคลอง เซชู (Kholong Tshechu) ที่วัดยอนพู ซึ่งจัดขึ้นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนซึ่งดึงดูดผู้มาร่วมงานอย่างคับคั่ง เหตุผลนั้นไม่ใช่แค่ว่าเทศกาลนี้มีความเก่าแก่มากที่สุดในภูฏานตะวันออกเท่านั้นแต่ยังเกี่ยวกับชื่อของเทศกาลด้วย เพราะ Kholong หมายถึง การต่อสู้ ในภาษาชาร์ชอพคา (Sharchopkha) จึงตีความได้ว่า เทศกาลเซชูที่มีการต่อสู้ นั่นเอง
เจดีย์โครา และนัมกังโครา (Chorten Kora & Namgang Kora)
เทศกาลเวียนเทียนรอบเจดีย์หรือโชร์เต็น (Chorten) ของชาว Dakpa (ประชาชนจากเมืองTawang ของรัฐอรุณาจัลประเทศ อินเดีย) และ Drukpa (ชาวภูฏาน) จัดขึ้นในเดือนที่หนึ่งทางจันทรคติ โดยมีประชาชนในแถบภาคตะวันออกทั้งชาวภูฏานและอินเดียเข้าร่วมในงานนี้
ความเชื่อที่นิยมเล่าสืบต่อกันมาเมื่อแรกสร้างเจดีย์นั้นมีอยู่ว่า เจ้าหญิงฑากิณีที่เคร่งครัดในศาสนาจากอรุณาจัลประเทศได้ฝังพระองค์อยู่ใต้เจดีย์ในฐานะ Yeshe Semba เพื่อปฏิบัติสมาธิแด่ทุกสรรพสัตว์ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้เลื่อมใสศรัทธาทั้งจากเมืองทาวัง Tawang ในรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดียและในภูฏานได้เข้าร่วมพิธีนัมกัง โครา (Namgang Kora) หนึ่งในเทศกาลที่เก่าแก่ที่สุดในภาคตะวันออกของภูฏาน ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่เจดีย์โคราในมณฑลทราชิยังต์ซิ
เทศกาลตงซาเซชู (Trongsa Tshechu)
เทศกาล ตงซาเซชู จัดขึ้นในป้อมปราการยักษ์ตงซาซอง เป็นเทศกาลเซชูที่เก่าแก่ที่สุดในภูฏาน เชื่อกันว่าเทศกาลเซชูต่างๆ ที่แพร่หลายไปทั่วภูฏานนั้นมีต้นกำเนิดมาจากที่นี่
เทศกาลในเมืองบุมทัง
เทศกาลจัมเบย์ ลาคัง ดรุป (Jambay Lhakhang Drup)
เทศกาลนี้จัดขึ้นโดยมีจุดประสงค์หลักสองข้อคือ เพื่อเฉลิมฉลองการก่อตั้งวัดจัมเบย์ (Jambey Lhakhang) ในศตวรรษที่ 17 และเพื่อบูชากูรู รินโปเช ผู้นำพระพุทธศาสนานิกายตันตระเข้ามาสู่ภูฏาน ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่สำคัญมากของภูฏาน โดยมีไฮไลต์อยู่ที่พิธี Mewang หรือพิธีบูชาไฟ และพิธี Tercham หรือการเต้นรำทางศาสนา สำหรับระบำไฟนั้นมีขึ้นเพื่ออวยพรให้ผู้หญิงที่มีลูกยากให้สามารถกำเนิดบุตรได้ในเร็ววัน
เทศกาลดอมคาร์ (Domkhar Festival)
เทศกาลดอมคาร์ (Domkhar) จัดขึ้นที่หุบเขาชูเมย์ ในเมืองบุมทัง โดยลามะ Kuenkhen Longchen Rabjam จากสำนัก Dranang อันโด่งดังของทิเบตเมื่อศตวรรษที่ 16 ท่านได้เผยแผ่คำสอนแบบอทวิภาวะของทิเบต (Dzogchen หรือ Great Perfection) และก่อตั้งอารามทั้งแปดแห่งซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เทศกาลจัดขึ้นในเดือนเมษยนของทุกปีที่วัดดอมคาร์เพื่อเป็นการบูชาองค์ลามะ
เทศกาลจาคาร์ (Jakar Festival)
เทศกาลจาคาร์ จัดขึ้นที่จาคาร์ซอง เป็นเทศกาลที่จัดมาได้ไม่นาน งานจัดขึ้นเป็นเวลาห้าวันในช่วงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งตรงกับเดือนเก้าตามปฏิทินจันทรคติของภูฏาน
Tangsibi Mani
Tangsibi เป็นหมู่บ้านที่มีทิวทัศน์สวยงามในหุบเขาอูรา เมืองบุมทัง งานจัดขึ้นที่วัดประจำหมู่บ้านตั้งแต่วันที่ 22-24 กันยายน
Prakhar Duchoed
Prakhar Duchoed จัดขึ้นที่วัดพราคาร์ (Prakhar Monastery) ในหุบเขาชูเมย์ เมืองบุมทัง ตั้งแต่วันที่ 23-25 ตุลาคม
ตารางเทศกาลของภูฏาน
ลำดับ | เทศกาล | สถานที่ | วันที่ |
1 | Punakha Drubchen | Punakha Dzong, Punakha | 4 – 6 มีนาคม |
2 | Punakha Tsechu | Punakha Dzong, Punakha | 7 – 9 มีนาคม |
3 | Tharpaling Thongdrol | Tharpaling Lhakhang, Chummi, Bumthang |
12 มีนาคม |
4 | Chorten Kora | Chorten Kora Lhakhang, Trashiyangtshe |
11 และ 26 เมษายน |
5 | Gomphu Kora | Gom Kora Lhakhang, Trashigang |
4 – 6 เมษายน |
6 | Talo Tsechu | Talo Gonpa, Punakha | 4 – 6 เมษายน |
7 | Gasa Tsechu | Gasa Dzong, Gasa | 3 – 6 เมษายน |
8 | Paro Tsechu | Rinpung Dzong, Paro | 7– 11 เมษายน |
9 | Rhododendron festival | Lamperi Botanical Garden, Dochula, Thimphu |
14 – 16 เมษายน |
10 | Domkhar Tsechu | Domkhar, Chummi, Bumthang | 5 – 7 พฤษภาคม |
11 | Ura Yakchoe | Ura Lhakhang, Bumthang | 7 – 10 พฤษภาคม |
12 | Nimalung Tsechu | Nimalung Dratshang, Chummi, Bumthang |
1 – 3 กรกฎาคม |
13 | Kurjey Tsechu | Kurjey Lhakhang, Choekhor, Bumthang |
3 กรกฎาคม |
14 | Masutaki Mushroom Festival | Ura, Bumthang | 23 – 24 สิงหาคม |
15 | Tour of the Dragon (Bicycle Race) |
Bumthang to Thimphu | 2 กันยายน |
16 | Thimphu Drubchen | Tashi Chhodzong, Thimphu | 26 – 29 กันยายน |
17 | Wangdue Tsechu | Tencholing Army Ground, Wangduephodrang |
29 กันยายน– 2 ตุลาคม |
18 | Gangtey Tsechu | Gangtey Gonpa, Phobjikha, Wangduephodrang |
3 – 5 ตุลาคม |
19 | Tamshing Phala Chhoepa | Tamshing Lhakhang, Choekhor, Bumthang |
29 กันยายน – 1 ตุลาคม |
20 | Thimphu Tsechu | Tashi Chhodzong, Thimphu | 30 กันยายน – 2 ตุลาคม |
21 | Thangbi Mani | PTangbi Lhakhang, Choekor, Bumthang |
4 – 6 ตุลาคม |
22 | Chhukha Tsechu | Chhukha Dzong, Chhukha | 9 – 11 เมษายน |
23 | Jakar Tsechu | Jakar Dzong, Choekhor, Bumthang |
29– 31 ตุลาคม |
24 | Jambay Lhakhang Drup | Jambay Lhakhang, Choekhor, Bumthang |
3 – 7 พฤศจิกายน |
25 | Prakar Duchhoed | Prakar Lhakhang, Chummi, Bumthang |
4 – 6 พฤศจิกายน |
26 | Black Necked Crane Festival | Gangtey Gonpa, Phobjikha, Wangduephodrang |
11 พฤศจิกายน |
27 | Mongar Tsechu | Mongar Dzong, Mongar | 26 – 28 พฤศจิกายน |
28 | Trashigang Tsechu | Trashigang Dzong, Trashigang | 27 – 29 พฤศจิกายน |
29 | Jambay Lhakhang Singye Cham |
Jambay Lhakhang, Choekhor, Bumthang |
3 ธันวาคม |
30 | Nalakhar Tsechu | Ngaa Lhakhang, Choekhor, Bumthang |
3 – 5 ธันวาคม |
31 | Druk Wangyel Tsechu | Dochula, Thimphu | 13 ธันวามคม |
32 | Trongsa Tsechu | Trongsa Dzong, Trongsa | 26 – 28 ธันวาคม |
33 | Lhuentse Tsechu | Lhuentse Dzong, Lhuentse | 26 – 28 ธันวาคม |