พืชพันธุ์ และสัตว์ประจำถิ่น

  • พืชพันธุ์
ทุ่งดอกไม้ในภูฏาน

พื้นที่ 72% ของประเทศภูฏานปกคลุมด้วยป่าไม้ของผืนดินทั้งหมด ตามนโยบายด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ทำให้ภูฏานยังคงอุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด โดยสามารถแบ่งลักษณะภูมิประเทศออกได้เป็นสามเขต

  1. เขตอัลไพน์ เป็นเขตที่อยู่เหนือแนวป่าไม้ (4,000 เมตรขึ้นไป)
  2. เขตภูมิอากาศอบอุ่น (2,000 ถึง 4,000 เมตร)
  3. ภูมิอากาศกึ่งเขตร้อน (150 ถึง 2,000 เมตร)

พันธุ์ไม้ราว 60% ที่พบทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัยพบได้เฉพาะในภูฏาน เมื่อรวมทั้งประเทศภูฏานมีพันธุ์ไม้กว่า 5,400 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้มี 300 สายพันธุ์ที่สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ และยังมีกุหลาบพันปีกว่า 46 ชนิด

ดอกป๊อปปี้สีฟ้า

ดอกไม้ประจำชาติ

ดอกป๊อปปี้สีฟ้า (Meconopsis Grandis) เป็นดอกไม้หายาก พบได้เฉพาะตามเขตภูเขาสูงเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วมักขึ้นตามพื้นที่ที่มีระดับความสูงประมาณ 3,500 – 4,000 เมตร หลังผ่านพ้นฤดูหนาวอันแสนทรหด ดอกไม้ชนิดนี้จะผลิบานในฤดูใบไม้ผลิ

ชาวท้องถิ่นเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า “Euitgel Metog Hoem”

ต้นไม้ประจำชาติ

ต้นสนไซเปรส (Cupressus Torolusa) รู้จักกันในชื่อท้องถิ่นว่า “Tsenden” เติบโตในที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,800 ถึง 3,500 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลำต้นสามารถสูงได้ถึง 45 เมตร นอกจากนี้ยังอยู่รอดได้ในสภาพดินที่ขรุขระกันดาร ต้นสนไซเปรสจึงเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญและเรียบง่าย

  • สัตว์ป่า
ลูกแกะน้ำเงินหิมาลัย

ภูฏานมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 90 ชนิด เช่น เสือดาวหิมะ แกะน้ำเงิน แพนด้าแดง เสือ ทาคิน มาร์มอต กวางชะมด ซึ่งเป็นสัตว์จำพวกที่พบในบริเวณพื้นที่ที่สูง และ นกอีกกว่า 770 ชนิด เช่น นกจำพวกนกกะเรียนคอดำ นกกระสาขาว นกเงือก และไก่ฟ้า รวมถึงนกและสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์บางชนิดอีกด้วย

ทาคิน

สัตว์ประจำชาติ

ทาคิน (Burdorcas Taxicolor) เป็นสัตว์หายาก อาศัยรวมกันเป็นฝูงตามพื้นที่สูงชันและมีป่าไม้หนาทึบที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลราว 4,000 เมตร ตามตำนานเล่าว่า ช่วงศตวรรษที่ 15 ลามะผู้หนึ่งนามว่า ดรุกปา คุนเลย์ (Drukpa Kunley) ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘Divine Madman’ ได้เนรมิตสัตว์ชนิดนี้ซึ่งไม่มีปรากฏที่ใดในโลกขึ้นมา ซึ่งลักษณะดูแปลกตาคล้ายวัวผสมแพะ

นกประจำชาติ

นกเรเวน (Corvus Corax Tibetanus) ลักษณะคล้ายคลึงกับอีกาแต่มีขนาดใหญ่กว่า เป็นตัวแทนของเทพ Jarog Dongchen หนึ่งในองค์เทพที่ทรงพลานุภาพมากที่สุดของภูฏาน เชื่อกันว่าพระองค์ทรงแปลงกายเป็นนกเรเวนเพื่อทรงชี้แนะและสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันในประเทศ

ผีเสื้อประจำชาติ

ผีเสื้อหางติ่งภูฏาน (Ludlow’s Bhutan Swallowtail) เป็นผีเสื้อหายากและใกล้สูญพันธุ์ โดยมีผู้พบผีเสื้อชนิดนี้อีกครั้งในภูฏานเมื่อ พ.ศ. 2552 หลังจากพบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อ 75 ปีก่อน และประกาศให้เป็นผีเสื้อประจำชาติของภูฏานเมื่อ พ.ศ. 2554