ภูฏานมีวัฒนธรรมที่หลากหลายและยังคงความดั้งเดิมไว้ เนื่องจากการแยกตัวออกจากโลกภายนอกมาโดยตลอดก่อนหน้าช่วง 50 ปีที่ผ่านมา และยังรักษาการปกครองในระบอบกษัตริย์และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ได้ ท่ามกลางกระแสวัฒนธรมจากต่างแดนที่หลั่งไหลเข้ามาโดยเฉพาะช่วงที่โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตเข้ามาในประเทศเมื่อ พ.ศ. 2542
แม้แต่ในปัจจุบันรัฐบาลเองก็ยังคงส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมอย่างจริงจัง ซึ่งเห็นได้จากสถาปัตยกรรมอันงดงาม เครื่องแต่งกาย เทศกาลเฉลิมฉลองที่มีมาแต่สมัยก่อน ตลอดจนวิถีชีวิตและความเชื่อแบบดั้งเดิม
นอกจากนี้ยังมีข้อบัญญัติด้านการแต่งกายและการปฏิบัติตนในพิธีการต่างๆ เรียกว่า Driglam Namzha เพื่อรักษาประเพณีและวัฒนธรรมของประเทศเอาไว้ ข้อบัญญัตินี้ประกอบด้วยมารยาทในการแต่งกาย การกิน การพูด การโค้งคำนับ ฯลฯ ซึ่งมีการกำหนดขึ้นและใช้ในช่วงปี 1990 ด้วยรากฐานที่มีมาแต่โบราณ เครื่องนุ่งห่ม ประเพณีการเพาะปลูก รวมถึงพิธีกรรมและการเฉลิมฉลองทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณต่างๆ เราอาจพูดได้ว่าภูฏานสามารถธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์เฉพาะตนที่ไม่มีใครเหมือนเอาไว้ได้อย่างดี
ภูฏานมีความหลากหลายทางภาษา มีภาษาถิ่นที่ใช้กันในประเทศถึง 19 ภาษา โดยมี “ภาษาซองคา” เป็นภาษาประจำชาติ
ภาษาซองคา (Dzongkha) มีความหมายว่า ภาษาที่พูดในป้อมปราการ นิยมใช้ในภาคตะวันตกและใช้เป็นภาษาราชการเมื่อ พ.ศ. 2514 นอกจากนี้ยังมีอีก 3 ภาษาหลักๆ ที่พูดกันในภูฏาน ได้แก่
ภาษาชางละคา(Tshanglakha) หรือ Sharchokpa ทางภาคตะวันออก, ภาษาโลธแชมคา(Lhotshamkha) หรือภาษาเนปาลี(Nepali)ทางภาคใต้, ภาษาบุมทัพคา(Bumthangkha)ทางภาคกลาง และยังมีภาษาถิ่นอื่นๆ เช่น ชาชฮอป (Sarchop), เค็งคา (Khengkha) ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีภาษาอังกฤษที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในการเรียนการสอนภายในโรงเรียน รวมถึงภาษาฮินดีของอินเดียที่พูดกันอย่างแพร่หลายและเป็นที่เข้าใจสำหรับชาวภูฏานส่วนใหญ่เพราะได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์อินเดีย
แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ภูฏานก็มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อนจึงเอื้อต่อการดำรงอยู่และรักษาเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เอาไว้ได้เป็นอย่างดี ชาวภูฏานส่วนใหญ่ประกอบด้วยสามเชื้อชาติหลักๆ คือ ชาวชาชฮอป(Sharchop) ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออก ชาวงาลอบ(Ngalop) อยู่ทางภาคตะวันตก และชาวโลทแชม (Lhotsham) อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ
โดยชาวแชงกลาส(Tshanglas) เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่อยู่ในภูฏานมาแต่เดิม สืบเชื้อสายมาจากทิเบต-พม่า ที่อาศัยอยู่ในมณฑลทราชิกัง(Trashigang), มงการ์(Mongar), เปมากัตเซล(Pemagatshel) และ ซัมดรุป จงคาร์(Samdrup Jongkhar)
ชาวงาลอบ(Ngalop)ที่อยู่ทางตะวันตกของภูฏานเป็นกลุ่มต่อมาที่อพยพมาจากทิเบตและได้นำพระพุทธศาสนานิกายวัชรยานเข้ามาด้วยโดยยังคงถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน
ชาวโลทแชม(Lhotsham)ได้อพยพเข้ามาในภูฏานทางตอนใต้และตั้งรกรากบริเวณที่ราบทางตอนใต้เพื่อทำเกษตรกรรมและดำรงชีพในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
นอกจากนี้ยังมีชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ได้แก่ ชาวบุมทัพ (Bumthap) และเคงพา (Khengpa) อาศัยอยู่ทางตอนกลาง ชาวเคอร์เทิพ (Kurtoep) ในมณฑลฮุนต์ซี (Lhuentse), โบรกพาส (Brokpas) และบรามิส (Bramis) ทางตะวันออก และชาวโดยา (Doya) ในมณฑลซัมชิ (Samtse) และเมืองมงพา (Monpa) ในมณฑลตงซา (Trongsa) และวังดี (Wangdue)