พาโร (Paro) ประตูสู่ดินแดน สวรรค์แห่งสุดท้ายบนพื้นพิภพ เมืองนี้เป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานนานาชาติเพียงแห่งเดียวในภูฏาน เป็นเมืองที่งดงาม มีนาข้าวเขียวขจีและทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ เป็นภาพทิวทัศน์สุดตระการตาราวกับร่ายด้วยเวทมนต์ และยังขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวแดง แอปเปิ้ล และลูกพีช
ชาวเมืองพาโร เรียกว่า Parop ซึ่งในเมืองพาโร มีผู้อาศัยราว 7,118 หลังคาเรือน และเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชาชนพูดภาษาซองคาที่มากที่สุดเมืองหนึ่งของประเทศ
พาโร เป็นเมืองใหญ่ที่มีชีวิตชีวา เหมาะกับการเดินเล่น ชมเมือง มีป้อมปราการที่สวยงาม อนุสรณ์สถาน ศาสนสถานและสถานที่ที่น่าสนใจหลายแห่งที่ไม่ควรพลาด นอกจากนี้ยังมีร้านจำหน่ายของที่ระลึกและงานหัตถกรรมให้เลือกซื้อมากมายตลอดสองฟากฝั่งถนน
การสัมผัสบรรยากาศบ้านไร่กลางชนบทสไตล์ภูฏานเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่น่าสนใจ เพราะเป็นโอกาสในการเรียนรู้และสัมผัสกลิ่นอายแห่งวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านในภูฏานโดยตรง
บ้านในชนบทส่วนใหญ่ของภูฏานมักใช้สีแบบดั้งเดิม สร้างด้วยดินเหนียวและก้อนหินโดยไม่มีการตอกตะปู บริเวณใต้ถุนบ้านในสมัยก่อนใช้เป็นคอกสัตว์ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นห้องเก็บของเพื่อสุขอนามัยที่ดีขึ้น , ชั้นบนของบ้านส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็นห้องครัวขนาดใหญ่ ซึ่งใช้เป็นห้องนั่งเล่นไปในตัว ห้องสวดมนต์ ห้องเก็บของและห้องนอน
หากไม่พูดถึงการปรับปรุงด้านสุขอนามัยและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่มีให้นักท่องเที่ยว บรรยากาศโดยรวมของที่พักสไตล์นี้ยังคงคล้ายคลึงกับวันวาน นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถลองใช้ห้องอาบหินร้อนของบ้านและร่วมรับประทานอาหารกับเจ้าของบ้าน
ดรุกเยลซอง (Drugyel Dzong) อยู่ห่างจากตัวเมืองพาโรออกไปราว 18 กิโลเมตร ในอดีตชาวภูฏานใช้เป็นฐานบัญชาการและขับไล่กองทัพธเบตที่มารุกรานในช่วงศตวรรษที่ 17 โดย “ดรุกเยลซอง” หมายถึง “ป้อมแห่งชัยชนะ” สร้างขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะเหนือทิเบตของภูฏาน เมื่อ พ.ศ. 2187
ท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล ได้สร้างป้อมแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2192 เพื่อ ควบคุมเส้นทางไปยังทิเบต ว่ากันว่า ได้มีการสร้างทางลวงเข้าสู่ตัวป้อมที่ออกแบบมาเพื่อหลอกล่อให้ผู้บุกรุกหลงกลเข้าไปยังลานกว้างที่ไม่มีทางหลบหนีออกไปได้ แต่ในปัจจุบันป้อมแห่งนี้อยู่ในสภาพทรุดโทรมเพราะได้รับความเสียหายจากไฟไหม้เมื่อ พ.ศ.2494
นอกจากนี้ในวันที่อากาศแจ่มใส จะเห็น ภูเขาจูโมลฮารี สูงตระหง่าน เป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่ชอบการถ่ายภาพ
วัดดุงเช (Dungtse Lhakhang) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1964 โดยพระชาวทิเบต Thangtong Gyelpo ซึ่งมีความสามารถในงานช่างและได้ชื่อว่าเป็นช่างทำสะพานเหล็กผู้ยิ่งใหญ่ เชื่อกันว่า วัดนี้สร้างขึ้นบนศรีษะของนางปีศาจที่ทำให้ชาวบ้านล้มป่วยเพื่อสะกดฤทธิ์เดชของนางเอาไว้ ต่อมาพระสงัฆราชองค์ที่ 25 ของภูฏานได้บูรณะซ่อมแซมวัดเมื่อ พ.ศ. 2384 มีเรื่องเล่าว่า ในวันที่เริ่มการบูรณะนั้นมีวิญญาณของผู้สร้างวัดปรากฏกายเป็นนกแร้งห้าตัวบินวนรอบวัด
ภายในวัดเก็บรวบรวมภาพพระพุทธเจ้าและพระพุทธรูปที่งดงามเอาไว้ วิหารของวัดสร้างขึ้นเป็นรูปเจดีย์สถาปัตยกรรมแบบภูฏานโดยมีหอกลางสีขาวอยู่ด้านบน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำพาโรที่ปลายเนินเขาระหว่างหุบเขาพาโรและหุบเขาดอพชาริ (Dopchari) ซึ่งต้องข้ามสะพานจากฝั่งเมืองพาโร
Kila ในภาษาสันสกฤต หมายถึง กริชแห่งจิตวิญญาณที่ทำลายพลังด้านมืด
เมื่อเดินขึ้นไปตามทางขึ้นเขาที่สูงชัน จะพบจุดหมายปลายทางซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดและวิหารต่างๆ ที่งดงามภายในสำนักชีแห่งนี้ภายในสำนักชีประกอบด้วยกลุ่มวิหารเจ็ดหลังตั้งอยู่ริมหน้าผาที่ระดับความสูง 3,500 เมตร ในลักษณะเดียวกับการสร้างบ้านบนต้นไม้วัดแห่งนี้มีแม่ชีจำพรรษาอยู่ 70 รูป และ Kila Gompa ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า Chele Gompa
เหมาะสำหรับผู้ที่รักการปีนเขา ใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงลัดเลาะชมความงามของผืนป่าและหน้าผาชันเพื่อสัมผัสทิวทัศน์ตระการตาของหุบเขาพาโร
วัดคิชู (Kyichu Lhakhang) วัดที่เก่าแกที่สุดแห่งหนึ่งของภูฏาน โดยใช้เวลาขับรถจากตัวเมืองพาโรไม่นาน ตามตำนานเล่าว่า กษัตริย์ทิเบต Songtsen Gampo สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อตอกตรึงเท้าซ้ายของนางยักษ์ที่นอนขวางเส้นทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทิเบตและเทือกเขาหิมาลัย และวัดนี้ยังเป็นหนึ่งใน 108 วัดที่กษัตริย์ Songtsen Gampo สร้างขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์เพียงชั่วข้ามคืนใน พ.ศ. 2382 ได้มีการมุงหลังคาสีทองและก่อสร้างอาคารอื่นๆ เพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังมีวิหารกูรูที่ประดิษฐานรูปหล่อสูง 5 เมตรของกูรูรินโปเช สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2511 ซึ่งสมเด็จพระราชินีอาร์ชิเคซังวังชุก ในสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่สามทรงสละพระราชทรัพย์เพื่อสร้างวัดนี้
พาโร รินปุงซอง (Paro Rinpung Dzong) อยู่ห่างจากตัว เมืองปาโร ไปราวสองกิโลเมตร ที่ทางเข้ามีสะพานไม้เก่าแก่ที่เรียกว่า Nyamai Zam ทอดข้ามแม่น้ำเชื่อมไปยังซองหรือป้อมปราการขนาดมหึมาที่ก่อด้วยหิน ป้อมแห่งนี้มีสีขาวสะดุดตาชื่อว่า รินปุงซอง (Rinpung Dzong) สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2189 โดยท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล แต่ก่อนป้อมนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ รินเชนปุงซอง (Rinchen Pung Dzong) แปลตรงตัวได้ว่า “ป้อมปราการบนกองอัญมณี” เป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของภูฏาน ภายในมีห้องสักการะจำนวน 14 ห้อง
นอกจากนี้ป้อมแห่งนี้ยังเป็นศูนย์บริหารราชการ ศาล รวมถึงเขตสังฆาวาส ลานเอนกประสงค์ภายในป้อมยังเป็นที่จัดงานเทศกาลระบำหน้ากากพาโร เซชู หนึ่งในเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดของภูฏานซึ่งจัดขึ้นในวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ
National Museum/ Ta Dzong (ตา-ซง) เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของภูฏาน อยู่ถัดจากรินปุงซองขึ้นไปบนยอดเนินเขา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก รวมถึงชาวภูฏานเอง หลายคนที่เคยมาเยือนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าถ้ามาภูฏาน “ไม่ควรพลาดมาที่นี่” พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมของภูฏานที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
ในสมัยก่อน สถานที่แห่งนี้เคยเป็นหอสังเกตการณ์เพื่อเฝ้าระวังการบุกโจมตีจากทิเบตในช่วง พ.ศ. 2194 อยู่ห่างจากรินปุงซองขึ้นไปบนเนินเขาประมาณ 500 ฟุต ก่อนเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปี พ.ศ. 2510
(*ซง หมายถึงป้อมปราการ ในภาษาซงคา)
หลังจากเดินทางข้ามหุบเขาไอซูน่า (Isuna) ก่อนถึงจุดบรรจบของแม่น้ำ คุณจะเห็นวัดทาชอก (Tachog Lhakhang) หรือ Tachogang อยู่เบื้องหน้าเชิงเขาริมทางหลวงพาโร-ทิมพู นักท่องเที่ยวจะต้องเดินไปตามสะพานแขวนเหล็กที่ทอดข้ามแม่น้ำพาโร เพื่อเดินทางต่อไปยังวัด ภายในวัดมีอนุสรณ์และรูปสักการะประดิษฐานไว้ด้วย
ทาโชกัง (Tachogang) มีความหมายว่า “วัดบนเนินเขาที่มีม้าวิเศษ” สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 14 ตามตำนานเล่าว่า Thangtong Gyalpo พระทิเบตและนายช่างฝีมือดีที่สร้างสะพาน 108 แห่งในทิเบตและภูฏาน ท่านได้นิมิตเห็นวิญญาณม้าพลาหะ (Balaha) ซึ่งเป็นรูปจำแลงภาคหนึ่งของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ขณะนั่งสมาธิ จึงสร้างวัดนี้ตรงจุดที่นิมิตเห็นวิญญาณม้าพลาหะ รวมถึงสะพานแขวนเหล็กอันเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ของท่านด้วย ทั้งนี้สะพานเก่าได้รับความเสียหาย ถูกพัดพาไปกับน้ำท่วมเมื่อ พ.ศ. 2512 และบูรณะซ่อมแซมสะพานปัจจุบันโดยคงรูปแบบดั้งเดิมไว้เมื่อ พ.ศ. 2548
ในปัจจุบันวัดนี้อยู่ในความดูแลของทายาทของท่าน Thangtong Gyalpo
วัดทักซัง (Taktsang) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองพาโร บนหน้าผาสูง 3,000 ฟุต เป็นวัดที่มีชื่อเสียงมากที่สดุแห่งหนึ่งของภูฏาน คำว่า Taksang มีความหมายว่า “ รังเสือ ” ตามตำนานเล่าว่า ประมาณต้นศตวรรษที่ 8 คุรุปัทมสัมภวะ ที่รู้จักในฐานะผู้เผยแพร่พุทธศาสนาในภูฏาน ได้ขี่หลังนางเสือเหาะมาจากทิเบต และมาหยุดตรงจุดที่ตั้งวัดในปัจจุบัน เพื่อปฏิบัติกรรมฐานอยู่ในถ้ำเป็นเวลาสามเดือน
ส่วนวัดนั้นสร้างโดยเจ้าเมืองพาโร Desi Tenzin Rabgye เมื่อ พ.ศ. 2227 ในปี พ.ศ. 2541 เกิดเพลิงไหม้วัดแต่สามารถบูรณะกลับคืนสภาพเดิมได้ ซึ่งก่อนหน้านั้นเมื่อ พ.ศ. 2494 ก็เคยเกิดเหตุเพลงไหม้มาแล้วครั้งหนึ่ง
วัดทักซังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวภูฏานและนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมา มีหมู่วิหารเจ็ดหลังอยู่รอบๆ ถ้ำที่ “คุรุปัทมสัมภวะ” เคยปฏิบัติกรรมฐาน การเดินทางขึ้นมายังวัดทักซังใช้เวลาเดินเท้าขึ้นเขาประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง ผู้มาเยือนจะได้สัมผัสความงดงงามของป่าสนตลอดเส้นทาง และดื่มด่ำกับทิวทัศน์สุดตระการตาของหุบเขาเมืองพาโร และอาจกล่าวได้ว่าวัดทักซังเป็นสถานที่ที่ต้องมาเยือนให้ได้ หากใครไม่ได้มาวัดทักซังก็เหมือนมาไม่ถึงภูฏาน