ภูฏาน ไม่ใช่สถานที่ทั่วไป แต่เป็นประเทศที่มีความทันสมัยแต่ยังรักษารากเหง้าในอดีตของตนเองเอาไว้ได้ ภูฏานตระหนักถึงผลกระทบจากการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยอย่างรวดเร็ว จึงได้วางแผนพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างรอบคอบและยั่งยืน พร้อมกับรักษาจิตวิญญาณของตนเอาไว้ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงการอนุรักษ์และปกป้องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างยั่งยืนนี้ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล
การตัดสินใจในทุกๆ เรื่องของรัฐจึงคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง การออกนโยบายการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวนับป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามในการรักษาสภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมที่ดีงามอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศภูฏานไม่ให้กลืนหายไปกับอิทธิพลต่างชาติที่เข้ามา
ด้วยความพยายามดังกล่าวประเทศภูฏานจึงมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ หลายแห่ง มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตลอดจนมีวัฒนธรรมและเทศกาลต่างๆ ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือน
10 เหตุผลที่ควรมาเยือนภูฎาน
วัดทักซัง ตั้งอยู่ริมหน้าผาสูงทางตอนเหนือของเมืองพาโร มีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 3,000 เมตร เป็นวัดพุทธที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูฎานมีตำนานเล่าว่า “คุรุรินโปเช”ทรงขี่เสือไฟเหาะมาจากทิเบตมาจำศีลยังหน้าผาแห่งนี้
เซชู เป็นเทศกาลทางศาสนาประจำปีของประเทศภูฏาน เทศกาลดังกล่าวจะจัดขึ้นตามซองและวัดสำคัญต่างๆ โดยชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงจะมารวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมพิธีระบำหน้ากากและกิจกรรมทางศาสนาอื่นๆ
ซอง คือป้อมปราการโบราณของภูฏาน ในปัจจุบันกลายเป็นสถานที่บริหารราชการแผ่นดิน ซองสร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของภูฏานโดยมีฐานกว้างและด้านบนสอบเรียวขึ้นไป มีการประดับตกแต่งลวดลายที่หลากหลายและสีสันที่สวยงามเอกลักษณ์
นอกจากนี้ยังแสดงถึงภูมิปัญญาทางวิศวกรรมที่น่าทึ่ง โดยใช้วัสดุเครื่องไม้และเข้าลิ่มโดยไม่ต้องตอกตะปู
ความสุขมวลรวมประชาชาติ เป็นปรัชญาในการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับค่านิยมทางพุทธศาสนาที่สามารถชี้วัดคุณภาพชีวิตทั้งทางด้านจิตวิญญาณและทางจิตใจของประชาชน ภูฏานไม่ได้ปฏิเสธตัวชี้วัดการพัฒนาแบบ GDP แต่เลือกใช้ GNH เป็นปรัชญาทางเลือกในการชี้วัดการพัฒนาประเทศแทน
ภูฏานมีภูเขาที่สูงติดอันดับโลกที่ไม่เคยมีใครขึ้นไปพิชิต อย่างภูเขาจูโมลฮารี, จิชูเดรค และอื่นๆ นักท่องเที่ยวสามารถชื่นชมวิวยอดเขาได้จากจุดชมวิว เนื่องจากรัฐบาลภูฏานไม่อนุญาตให้ปีนขึ้นไปบนยอดเขา ด้วยชาวภูฏานเชื่อว่ายอดเขาสูงแต่ละที่นั้นเป็นที่สถิตของทวยเทพและวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภูฏาน เป็นแหล่งเก็บรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของคนภูฏาน เริ่มตั้งแต่ต้นกำเนิดของท่านคุรุปัทมะสัมภวะในสมัยศตวรรษที่ 8 แต่ละป้อมและอาคารแต่ละหลังมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นักท่องเที่ยวจะได้รับประสบการณ์เสมือนได้มาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในครั้งเดียว
การเดินป่าในภูฏาน นักท่องเที่ยวจะได้ผ่านเส้นทางที่ท้าทายความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินข้ามเขาสูงและภูเขาหิมะ และอาจเจอะเจอตัวทากระหว่างทาง แต่คุ้มค่าที่ได้แลกกับความงดงามของธรรมชาติตลอดเส้นทาง อีกทั้งยังได้ใกล้ชิดกับชาวนาและคนท้องถิ่นบนภูเขาสูง และยังมีม้าไว้คอยบริการแบกสัมภาระ
โซริก ซูซุม หมายถึง ช่างศิลปะและหัตถกรรม 13 หมู่ของภูฎาน ถือเป็นสัญลักษณ์ที่มีรากเหง้ามาจากพุทธปรัชญา ประกอบด้วยงานเครื่องไม้ งานก่อหิน งานแกะสลัก งานจิตรกรรม งานประติมากรรม งานกลึงไม้ งานหล่อโลหะ งานเครื่องประดับ งานจักสานไม้ไผ่ งานผลิตกระดาษ งานตัดเย็บ และงานทอผ้า โดยมีท่านเปมา ลิงปะเป็นผู้ค้นพบและเผยแพร่วิชาช่างเหล่านี้ในศตวรรษที่ 15
ภูฏานเป็นชาติเดียวในโลกใบนี้ที่ใช้พริกเป็นผักประกอบอาหารมิใช่เครื่องปรุงรส อาหารประจำชาติที่ขื้นชื่อคือ เอมาดัทชิ หรือ พริกผัดชีส เสิร์ฟพร้อมข้าวสวย เป็นเมนูที่นักท่องเที่ยวต้องลองสักครั้งด้วยตัวเอง
ศาสนาพุทธในประเทศภูฏาน มิได้เป็นเพียงศาสนา แต่คือวิถีชีวิต เหตุผลที่ประเทศภูฏานมีความเป็นอยู่อย่างสงบสุขด้วยเพราะมีความศรัทธาอย่างลึกซึ้งในพระพุทธศาสนา จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นคนเฒ่าคนแก่ตามวัดต่างๆ เดินจงกรม ถือสายลูกประคำขณะสวดมนต์อยู่ในมือตลอดเวลา หากคุณเป็นนักท่องเที่ยวที่ต้องการหลีกหนีความวุ่นวาย แนะนำให้ลองมาฝึกทำสมาธิแบบภูฏานดูสักครั้ง